ฮิจญ์เราะฮฺตามความหมายด้านภาษาแล้ว หมายถึง การย้ายถิ่นฐาน การอพยพ ฮิจญ์เราะฮฺอาจสื่อความหมายด้านนามธรรม ซึ่งหมายถึง การไม่ให้ความสำคัญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การละเลยไม่สนใจใยดี หรือการละทิ้งพฤติกรรมที่ไม่ดีสู่พฤติกรรมที่ดี
ส่วนความหมายตามหลักวิชาการแล้วคือ การอพยพของนบีมูฮัมมัด ﷺ และเหล่า เศาะหาบะฮฺ (บรรดาสหาย) จากนครมักกะฮฺ ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดสู่นครมะดีนะฮฺ นครรัฐแห่งแรกในอิสลาม เนื่องจากถูกกดขี่ทรมานและถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการประกอบพิธีทางศาสนา ตลอดจนไม่สามารถปฏิบัติธรรมและแสดงตนตามความเชื่อศรัทธาตนเอง
มุสลิมสมัยการปกครองของท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัร บินค็อฏฏอบ t พร้อมใจกันเลือกเหตุการณ์ฮิจญ์เราะฮฺเป็นจุดเริ่มต้นของการนับปฏิทินอิสลาม เพื่อให้มุสลิมได้รำลึกเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่นี้ในทุกอณูการดำเนินชีวิตของมุสลิม
สาเหตุของฮิจญ์เราะฮฺนบีมูฮัมมัด ﷺ
1. มุสลิมไม่ได้รับสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา ถูกกดขี่ข่มเหงจากชาวมักกะฮฺอย่างไร้มนุษยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังการเสียชีวิตของอะบูฏอลิบ (อาของนบีมูฮัมมัด ﷺ ) และนางเคาะดีญะฮฺ (ภรรยาของท่านนบีมูฮัมมัด ﷺ) ซึ่งสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ ทั้งสองท่านเปรียบเสมือนเสาหลักที่คอยปกป้องและคุ้มครองนบีมูฮัมมัด ﷺ อยู่ตลอดเวลา แต่มุสลิมก็เผชิญอุปสรรคด้วยความอดทน เสียสละ และยังให้บทเรียนอันล้ำค่าว่าภัยคุกคามภายนอกที่เป็นการทรมานทางร่างกายและจิตใจที่สร้างความสูญเสียทางชีวิตและทรัพย์สินไม่สามารถสั่นคลอนความศรัทธาอันมั่นคงและความตั้งใจอันแน่วแน่ของศรัทธาชนแม้แต่น้อย แต่หลังจากที่ท่านทั้งสองเสียชีวิตแล้ว บรรดามุสลิมถูกคุกคามและได้รับการทรมานเพิ่มเป็นทวีคูณ นบีมูฮัมมัด ﷺ เคยยอมรับว่า ท่านไม่เคยถูกคุกคามอย่างหนักจากบรรดามุชริกีน จนกระทั่งหลังการเสียชีวิตของอะบูฏอลิบ นบีมูฮัมมัด ﷺ จึงเสียใจกับการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของท่านทั้งสองมาก นักประวัติศาสตร์ได้เรียกปีที่ทั้งสองท่านเสียชีวิต(ปีที่ 10 หลังจากการประกาศเป็นศาสนทูต) เป็นปีแห่งความเศร้าโศก
2. ผลพวงแห่งการทำสัตยาบันอัล-อะเกาะบะฮฺครั้งแรกและครั้งที่สองระหว่างนบีมูฮัมมัด ﷺ และชาวยัษริบ(ชื่อเดิมของนครมะดีนะฮฺ) อันประกอบด้วยผู้แทนเผ่าเอาวซ์และค็อซร็อจญ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหาในการให้คำสัตยาบันอัล-อะเกาะบะฮฺครั้งที่สอง ซึ่งทั้งสองเผ่าได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะคุ้มครองและปกป้องนบีมูฮัมมัด ﷺ เสมือนพวกเขาคุ้มครองและปกป้องภรรยาและลูกหลานของตนเอง
หลังจากการให้คำสัตยาบันดังกล่าว นบีมูฮัมมัดr เริ่มเห็นประกายอนาคตอันสดใสของสาสน์อิสลามที่นครมะดีนะฮฺ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าทีของประชาคมมะดีนะฮฺ ที่ตอบรับรุ่งอรุณแห่งอิสลามด้วยความบริสุทธิ์ใจ มะดีนะฮฺคือ แผ่นดินที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเพาะพันธุ์เมล็ด สัจธรรมแห่งอิสลาม
3.แผนการณ์อันชั่วร้ายของชาวกุร็อยชฺที่ได้ออกมติกำจัดนบีมูฮัมมัด ﷺ โดยวิธี “ซุ่มแล้วฆ่า” ด้วยการคัดเลือกเยาวชนซึ่งเป็นผู้แทนเผ่าต่างๆ โดยที่แต่ละคนถือดาบคนละด้าม และร่วมลงมือปฏิบัติการฆ่านบีมูฮัมมัด ﷺ โดยพร้อมเพรียงกัน ทั้งนี้เพื่อบีบบังคับให้เผ่าบะนีอัลดุมะนาฟ (เผ่าของนบีมูฮัมมัด ﷺ) ยินยอมรับค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากไม่มีศักยภาพพอที่จะล้างแค้นและทำสงครามกับเผ่าต่างๆในนครมักกะฮฺ
อัลลอฮฺ Iได้เปิดโปงกลอุบายดังกล่าวแก่นบีมูฮัมมัด และอนุญาตให้นบีมูฮัมมัด ﷺ ฮิจญ์เราะฮฺสู่นครมะดีนะฮฺ
การเริ่มต้นฮิจญ์เราะฮฺของนบีมูฮัมมัด ﷺ
หลังจากบรรดามุสลิมีนได้ทยอยอพยพสู่นครมะดีนะฮฺ และไม่มีผู้ใดหลงเหลืออยู่ในนครมักกะฮฺ เว้นแต่ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังและกลุ่มผู้ไม่มั่นใจในความปลอดภัยในการเดินทาง นบี มูฮัมมัด ﷺ ได้เตรียมการอพยพพร้อมกับรอรับคำสั่งจากอัลลอฮฺ I ในการกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมกับฮิจญ์เราะฮฺ นบีมูฮัมมัด ﷺ ได้วานให้ อบูบักร์ t และอะลีบิน อบูฏอลิบ t ชะลอการฮิจญ์เราะฮฺ ทุกครั้งที่อบูบักร์ t ขออนุญาตเพื่อฮิจญ์เราะฮฺ นบีมูฮัมมัด ﷺ มักตอบว่า : ท่านอย่าเพิ่งรีบร้อน บางทีอัลลอฮฺ I ได้กำหนดสหายเดินทางสำหรับท่านก็เป็นได้ อบูบักร์t จึงหวังลึกๆ ว่า นบี มูฮัมมัด ﷺ อาจเลือกเขาเป็นสหายการเดินทางในครั้งนี้ เขาจึงแอบซื้ออูฐ 2 ตัว เพื่อเตรียมตัวใช้เป็นพาหนะการเดินทาง
ส่วนอะลีบินอบูฏอลิบt นบีมูฮัมมัด ﷺ ได้ชะลอการฮิจญ์เราะฮฺของเขา เพื่อมอบภารกิจอันยิ่งใหญ่ในวินาทีที่คับขันและเต็มไปด้วยภยันตราย
วิกฤตมักสร้างวีรบุรุษ และวีรบุรุษมักฟันฝ่าวิกฤตในฐานะผู้ประสบชัยชนะอยู่เสมอ
อบูบักร์t และอะลีt จึงเป็นวีรบุรุษต่างวัยและต่างวุฒิภาวะที่ได้รับมอบหมายจากนบี มูฮัมมัด ﷺ ให้ปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่เพื่อการเล่าขานในหน้าประวัติศาสตร์อิสลามอย่างมิรู้ลืม
อุมมุลมุอ์มินีนอาอิชะฮฺได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่นบีมูฮัมมัด ﷺ ฮิจญ์เราะฮฺว่า : “โดยปกติแล้ว นบีมูฮัมมัด ﷺ มักไปเยี่ยมบ้านของอบูบักร์ในช่วงเช้าตรู่หรือช่วงพลบค่ำ จนกระทั่งเมื่อวันที่อัลลอฮฺ I ทรงอนุญาตให้นบีมูฮัมมัด ﷺ ฮิจญ์เราะฮฺ ท่านมาพบพวกเราท่ามกลางเวลาอันร้อนระอุ(ช่วงเวลาหลังเที่ยงวันถึงตอนเย็น)ซึ่งตามธรรมเนียมของชาวอาหรับแล้ว ไม่ค่อยมีผู้ใดออกจากบ้านในช่วงเวลาดังกล่าวเลย เมื่อเห็นนบีมูฮัมมัด ﷺ เข้ามาในบ้านของเราแล้ว อบูบักร์t จึงกล่าวว่า : ท่านรสูลุลลอฮฺจะไม่มาหาพวกเราในเวลาเช่นนี้ เว้นแต่มีเรื่องสำคัญแน่นอน
นางอาอิชะฮฺเล่าว่า : หลังจากนบีมูฮัมมัด ﷺ เข้าบ้านแล้ว อบูบักร์ t จึงรีบลุกจากเตียงของท่านเพื่อให้นบีมูฮัมมัด ﷺ นั่งแทน(เพื่อเป็นการให้เกียรติ) และไม่มีผู้คนในบ้านของอบูบักร์t เว้นแต่ฉันและพี่สาวฉันที่ชื่ออัสมาอ์เท่านั้น นบีมูฮัมมัด ﷺ จึงสั่งให้อบูบักร์tเชิญผู้คนในบ้านออกจากบ้านหมด อบูบักร์ t จึงกล่าวว่า : โอ้รสูลุลลอฮฺ แท้จริงทั้งสองคนคือบุตรสาวของฉันเอง ท่านมีเรื่องสำคัญประการใดหรือ ? นบีมูฮัมมัด ﷺ ตอบว่า อัลลอฮฺ I ทรงอนุญาตให้ฉันออกจากมักกะฮฺและฮิจญ์เราะฮฺสู่นครมะดีนะฮฺแล้ว อบูบักร์จึงรีบถามว่า แล้วใครเป็นสหายการเดินทาง นบีมูฮัมมัด ﷺ ตอบว่าท่านคือสหายการเดินทางของฉัน พลันที่ได้ยินคำนี้ น้ำตาแห่งความดีใจก็พรั่งพรูไหลอาบแก้มอบูบักร์ นางอาอิชะฮฺได้เล่าว่า ขอสาบานด้วยนามของอัลลอฮฺ I ฉันไม่เคยพบเห็นบุคคลที่ร้องไห้ เนื่องจากความดีใจ เสมือนกับที่ฉันเห็นอบูบักร์ร้องไห้ในวันนั้น
อบูบักร์ t ได้เตรียมอูฐ 2 ตัวเพื่อเป็นพาหนะการเดินทาง และได้ว่าจ้างผู้นำทางที่มีความเชี่ยวชาญเส้นทางในทะเลทรายชื่อ อับดุลลอฮฺ บิน อุร็อยก็อฏ ซึ่งยังไม่ได้เป็นมุสลิม อับดุลลอฮฺได้รับมอบอูฐทั้งสองตัวเพื่อให้การดูแลก่อนที่จะไปรับทั้งสองท่านในช่วงเวลาและสถานที่ได้ตกลงกันไว้
นบีมูฮัมมัด ﷺ ได้ตกลงกับอบูบักร์t เกี่ยวกับแผนการเดินทาง ทั้งสองได้ตกลงใช้ถ้ำษูรฺเป็นที่หลบซ่อนชั่วคราวโดยที่ถ้ำษูรฺตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมักกะฮฺในขณะที่มะดีนะฮฺซึ่งเป็นเป้าหมายของการเดินทางตั้งอยู่ทางทิศเหนือ ทั้งนี้เพื่อเป็นกลอุบายที่จะอำพรางการติดตามไล่ล่าของชาวกุร็อยชฺ ทั้งสองได้มอบหมายให้อับดุลลอฮฺ ลูกชายอบูบักร์คอยสอดแนมข่าวคราวความเคลื่อนไหวของชาวกุร็อยชฺพร้อมแจ้งข่าวให้ทั้งสอบทราบเป็นระยะๆ ในขณะที่อัสมาอ์ ลูกสาวอบูบักร์ได้รับหน้าที่ลำเลียงเสบียงอาหารตลอดระยะเวลาที่ทั้งสองท่านหลบซ่อนอยู่ในถ้ำ เช่นเดียวกันกับ อามิร บิน ฟุฮัยเราะฮฺ ทาสรับใช้ของอบูบักร์ที่คอยต้อนแกะในเช้าตรู่ เพื่อกลบรอยเท้าของอับดุลลอฮฺและอัสมาอ์ที่เดินทางไปที่ถ้ำ
นบีมูฮัมมัด ﷺ กลับบ้านอีกครั้งและมอบหมายให้อะลีบินอบูฏอลิบ t ส่งคืนของมีค่าต่างๆ ที่ชาวมักกะฮฺฝากไว้กับนบีมูฮัมมัด ﷺ ทั้งนี้ชาวมักกะฮฺมักนำของมีค่าต่างๆ มาฝากไว้ที่บ้านของนบีมูฮัมมัด ﷺ เนื่องจากไว้วางใจในความซื่อสัตย์ของท่าน
บรรดาวัยรุ่นกุร็อยชฺที่ได้รับมอบหมายให้วิสามัญฆาตรกรรมนบีมูฮัมมัด ﷺ ได้ล้อมบ้านท่านช่วงเวลากลางคืน นบีมูฮัมมัด ﷺ จึงมอบหมายให้อะลีนอน ณ ที่นอนของท่านพร้อมใช้ผ้าห่มคลุมตัวอะลี ทำให้บรรดากุร็อยชฺมั่นใจว่านบีมูฮัมมัด ﷺ กำลังนอนอยู่ พวกเขาเผลอหลับไปจนกระทั่งเช้าวันรุ่งขึ้น
ด้วยความช่วยเหลือของอัลลอฮฺ I นบีมูฮัมมัด ﷺ สามารถออกจากบ้านด้วยความปลอดภัย และได้พบกับอบูบักร์t ณ สถานที่ที่ได้นัดกันไว้ ทั้งสองเดินทางหลังเที่ยงคืนสู่เป้าหมายชั่วคราวคือ ถ้ำษูรฺ
ข้างฝ่ายชาวกุร็อยชฺ เมื่อแผนการณ์ไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งได้สร้างความโกรธแค้นแก่พวกเขายิ่งนัก เมืองมักกะฮฺจึงเกิดความโกลาหลวุ่นวาย และพวกเขาได้กรูเข้าไปจับท่านอะลี t และทรมานด้วยการลากตัวเขาไปยังกะบะฮฺ เพื่อบังคับให้อะลี t เปิดเผยสิ่งที่เกิดขึ้น แต่อะลี t ก็ไม่ปริปากแม้คำเดียว พวกเขาจึงมุ่งหน้าไปยังบ้านอบูบักร์ t และบังคับขู่เข็ญนางอัสมาอ์ บุตรสาวของอบูบักร์ให้บอกสถานที่หลบซ่อนของทั้งสองท่าน แต่นางอัสมาอ์ก็ไม่ยอมปริปากเช่นเดียวกัน นางจึงถูกตบตีโดยอบูญะฮัล (แกนนำชาวกุร็อยชฺ)จนกระทั่งตุ้มหูของนางหลุดกระเด็น
ชาวกุร็อยชฺจึงประกาศประชุมวิสามัญโดยด่วนเพื่อหามาตรการจับนบีมูฮัมมัด ﷺ และอบูบักร์ t พวกเขาจึงรีบส่งกองกำลังปิดล้อมเมืองมักกะฮฺและประกาศตั้งรางวัลอูฐจำนวน 100 ตัวสำหรับผู้ที่สามารถจับทั้งสองท่านไม่ว่าจับเป็นหรือจับตาย
การไล่ล่าจึงเริ่มขึ้นแทบพลิกแผ่นดินเมืองมักกะฮฺ แต่ก็ไร้เงาของทั้งสองท่าน ทีมไล่ล่าได้เข้าประชิดถ้ำษูรฺ จนกระทั่งอบูบักร์มองเห็นเท้าของพวกเขา แต่ด้วยความช่วยเหลือของอัลลอฮฺ I พวกเขาก็ต้องกลับด้วยมือเปล่า ทั้งๆที่เป้าหมายสำคัญอยู่ใกล้แค่เอื้อม
บนเส้นทางสู่มะดีนะฮฺ หลังจากวันเวลาผ่านไป การไล่ล่าก็เริ่มผ่อนคลาย อับดุลลอฮฺ บิน อุร็อยก็อฏ ผู้รับหน้าที่เป็นผู้นำทางจึงไปพบทั้งสองท่าน ณ จุดนัดพบ
นบีมูฮัมมัด ﷺ และอบูบักร์ t เริ่มออกเดินทางโดยมีอามิร บิน ฟุฮัยเราะฮฺ(ทาสของอบูบักร์)เป็นผู้อำนวยความสะดวกและคอยให้บริการ ในขณะที่อับดุลลอฮฺ บิน อุร็อยก็อฏมีหน้าที่เป็นผู้นำทาง
พวกเขาใช้เส้นทางที่ผู้คนไม่ค่อยเดินผ่าน ตลอดระยะเวลาการเดินทางก็ต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางอยู่ตลอดเวลา เริ่มต้นด้วยการมุ่งสู่ทางทิศใต้ บางครั้งก็ใช้เส้นทางทิศตะวันตก และเมื่อถึงเส้นทางที่ผู้คนไม่ค่อยเดินผ่าน ก็เริ่มมุ่งหน้าสู่ทิศเหนือตามแนวทะเลแดงสู่ปลายทางมะดีนะฮฺ
นบีมูฮัมมัด ﷺ ถึงกุบาอ์(ห่างจากมะดีนะฮฺประมาณ 3 ไมล์)และพำนักอยู่ที่กุบาอ์เป็นเวลา 4 วัน ช่วงเวลาดังกล่าวนบีมูฮัมมัด ﷺ ได้สร้างมัสยิดกุบาอ์ที่ถือเป็นมัสยิดแห่งแรกในอิสลามและเป็นมัสยิดที่มีศิลารากฐานแห่งการตักวา(ความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ)
ระหว่างการเดินทางจากกุบาอ์ถึงเมืองมะดีนะฮฺ นบีมูฮัมมัด ﷺ ได้มีโอกาสละหมาดวันศุกร์ครั้งแรก ณ หมู่บ้านบะนีสาลิม บิน เอาว์ฟฺ หลังจากเสร็จสิ้นละหมาดวันศุกร์ นบีมูฮัมมัด ﷺ เริ่มเดินทางเข้าสู่มะดีนะฮฺท่ามกลางการต้อนรับอย่างอบอุ่น ระยะเวลาการเดินทางของนบีมูฮัมมัด ﷺ ที่เริ่มต้นออกจากบ้านที่นคร มักกะฮฺสู่นครมะดีนะฮฺใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 15 วัน
นับเป็นการเดินทางที่นอกจากเป็นจุดพลิกผันของประวัติศาสตร์อิสลามแล้ว ยังเป็นการเดินทางที่เปี่ยมด้วยคุณค่า สิริมงคล และการคุ้มครองแห่งอัลลอฮฺ I ของมนุษย์คนหนึ่งที่ได้รับเกียรติจากอัลลอฮฺ I ให้เป็นนบีคนสุดท้ายเพื่อเป็นแบบอย่างสำหรับมนุษยชาติในทุกยุคทุกสมัย
บทเรียนจากฮิจญ์เราะฮฺ
การฮิจญ์เราะฮฺของนบีแฝงด้วยบทเรียนมากมายสรุปได้ดังนี้
1. การฆาตกรรม มักเป็นมาตรการสุดท้ายของผู้อธรรม หลังจากมาตรการไม้อ่อนและการเย้ายวนในรูปแบบอื่นๆ ไม่เป็นผลและไม่สามารถยับยั้งความมุ่งมั่นของการเรียกร้องสู่สัจธรรม การอุ้มแล้วฆ่า หรือ ซุ่มแล้วฆ่า ล้วนเป็นวิธีการที่ฝ่ายอธรรมยึดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอยู่เสมอ ซึ่งประวัตินบียุคก่อนๆก็ไม่พ้นสัจธรรมข้อนี้ แต่อัลลอฮฺ I ทรงกำหนดทุกอย่างตามความประสงค์ของพระองค์
2. การที่ชาวมักกะฮฺได้มอบความไว้วางใจแก่นบีมูฮัมมัด ﷺ ด้วยการฝากของมีค่าให้นบีดูแล และสังคมมักกะฮฺได้ตั้งฉายานบีมูฮัมมัด ﷺ ว่า อัล-อะมีน(บุรุษผู้ซื่อสัตย์) เพราะคุณสมบัติสำคัญสำหรับผู้ประกาศสัจธรรม คือ การที่มีใจซื่อมือสะอาด ไม่มีประวัติที่ด่างพร้อย เปี่ยมด้วยคุณธรรมจริยธรรมอันดีงาม เป็นที่รักและไว้วางใจของผู้คน คุณสมบัติเช่นนี้เป็นที่ระแวงของผู้อธรรมยิ่งนัก เพราะความหวาดกลัวของผู้อธรรม คือ การเปิดโปงความจริงและการแพร่ขยายสัจธรรม
คุณสมบัติและพฤติกรรมของนบีมูฮัมมัด ﷺ ดังกล่าวน่าจะเป็นบทเรียนอันล้ำค่าสำหรับมุสลิมในการใช้ชีวิตร่วมกันท่ามกลางสังคมอันหลากหลายที่สามารถแสดงถึงความดีงาม แปลคำสอนสู่ภาคปฏิบัติที่มนุษย์สามารถสัมผัสถึงความบริสุทธิ์ที่แท้จริงของอิสลาม อิสลามจึงไม่ต้องแปดเปื้อนด้วยการกระทำของมุสลิมด้วยกันเอง
นบีมูฮัมมัด ﷺ สามารถริบทรัพย์สมบัติดังกล่าว อย่างน้อยเพื่อเป็นเสบียงสำหรับการเดินทาง และเจ้าของทรัพย์สินก็มีเจตนาร้ายกับท่านอยู่แล้ว ซึ่งนบีมูฮัมมัด ﷺ สามารถกระทำได้และน่าจะเป็นเหตุผลที่พอรับได้ แต่นบีมูฮัมมัด ﷺ ไม่กระทำเช่นนั้น เพราะอิสลามถือว่าการปราบปรามความอยุติธรรมด้วยการสร้างความอยุติธรรมใหม่ทดแทนนั้น ไม่ใช่เป็นแนวทางและคำสอนของอิสลาม อิสลามไม่เคยสนับสนุนให้ปราบปรามความชั่วร้าย โดยการสถาปนาความชั่วร้ายใหม่เข้ามาแทนที่
เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ในบางครั้ง ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือความไม่ประสาและไม่เข้าใจศาสนาอย่างลึกซึ้งของมุสลิม เป็นเหตุให้อิสลามต้องมัวหมองและด่างพร้อยเพราะพฤติกรรมส่วนหนึ่งของมุสลิมด้วยกันเอง
3. ช่วงการฮิจญ์เราะฮฺ นับเป็นภาวะคับขันที่สุดในชีวิตนบีมูฮัมมัด ﷺ ท่านจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ I ในลักษณะที่ไม่จำเป็นต้องตรากตรำลำบากมากมายขนาดนี้ แต่ท่าน เลือกใช้วิธีปุถุชนธรรมดา เพื่อเป็นบทเรียนให้ทุกคนรู้ว่า เมื่อมนุษย์รู้จักใช้เหตุปัจจัยที่ดี มีการวางแผนอย่างรอบคอบและใช้ความพยายามอย่างเต็มความสามารถแล้ว เขาย่อมประสบความสำเร็จอย่างแน่นอนด้วยความประสงค์ของอัลลอฮฺ I
นบีสามารถขอพรจากอัลลอฮฺ I ให้ความช่วยเหลือตามความต้องการของท่าน สามารถวานขอบุร็อก (พาหนะที่ท่านเคยขี่ช่วงอิสรออ์ มิอฺรอจญ์) และสามารถนำพาท่านไปยังที่หมายเพียงชั่วพริบตาเดียว แม้กระทั่งช่วงที่ท่านหลบซ่อนในถ้ำเป็นเวลานานถึง 3 วัน ท่านก็ยังสามารถยกมือขอดุอาอ์จากอัลลอฮฺให้จัดอาหารจากสวนสวรรค์ ดังที่พระองค์ได้ทรงจัดอาหารให้แก่ชาวบนีอิสรออีลในสมัยนบีมูซามาแล้ว แต่นบีเลือกที่จะฝ่าฟันอุปสรรคเยี่ยงมนุษย์ธรรมดา โดยมีการเตรียมการอย่างรัดกุม วางแผนอย่างละเอียดในทุกขั้นตอน แม้กระทั่งต้องขอความช่วยเหลือจากชนต่าง ศาสนิกก็ตาม
สังคมมุสลิมจำเป็นต้องแยกแยะให้ชัดเจนระหว่างความปรีชาสามารถของอัลลอฮฺ I กับความรับผิดชอบและตระหนักในหน้าที่ในการแสวงหาเงื่อนไขแห่งความสำเร็จอย่างถึงที่สุด จนกระทั่งในบางครั้ง สังคมมุสลิมมักตกในหลุมพรางแห่งความเชื่ออันไร้สาระ หลงเชื่อในอิทธิฤทธิ์อภินิหารและรอคอยความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺอย่างงมงาย โดยที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการทุ่มเทพละกำลังและการมุ่งมั่นทำงานอย่างจริงจัง
4. การที่นบีมูฮัมมัด ﷺ ฮิจญ์เราะฮฺสู่มะดีนะฮฺซึ่งมีอบูบักร์ที่มีบุคลิกที่อ่อนโยนแต่สุขุมลุ่มลึกเป็นสหายเดินทาง โดยไม่ขอความช่วยเหลือจากแกนนำมุสลิมท่านอื่นๆ ที่มีบุคลิกเข้มแข็งและน่าเกรงขาม นับเป็นการตัดสินใจอันเฉลียวฉลาดของนบีมูฮัมมัด ﷺ ที่ยึดหลักการแก้ปัญหาแนวสันติวิธี ถือเป็นเกียรติประวัติและความประเสริฐของอบูบักร์และครอบครัวของท่านในการมีส่วนร่วมปกป้องและอุปถัมภ์ศาสนานี้ในห้วงเวลาแห่งวิกฤตที่ไม่มีผู้ใดหรือครอบครัวใดที่ได้รับเกียรติ เช่นนี้อีกแล้ว
เป็นที่น่าวิตกเป็นอย่างยิ่งที่มีผู้เรียกตนเองว่าเป็นมุสลิม แต่กลับนิยมชื่นชอบกับลัทธิด่าทอ เศาะหาบะฮฺ และกล่าวหาเศาะหาบะฮฺซึ่งมีจำนวนกว่าหนึ่งแสนคนว่า หลังจากการเสียชีวิตของนบีแล้ว พวกเขาได้ตกเป็นคนนอกศาสนา (มุรตัด) ยกเว้นเพียงแค่ 2-3 คน เท่านั้นที่ยังยืนหยัดอยู่บนศาสนาที่ถูกต้อง แนวคิดในลักษณะนี้ไม่เพียงแต่เป็นการใส่ร้ายกลุ่มชนที่ประเสริฐสุดที่อัลลอฮฺI ทรงโปรดปรานเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันเป็นการใส่ร้ายนบีมูฮัมมัด ﷺ ในทางอ้อมด้วย หากมีใครสักคนที่มีเพื่อนเป็นร้อยๆ คนซึ่งล้วนมีนิสัยร้อยเล่ห์ เสน่ห์ลวง กลับกลอก หลอกลวงแล้ว เขาคนนั้นจะไม่เป็นที่ยอมรับจากสังคมอย่างแน่นอน ยิ่งหากเขาเป็นคนดี หรือเป็นผู้นำซึ่งเชิญชวนสู่ความดี เขาจะมีเพื่อนที่ชั่วช้าได้อย่างไร โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างนบีมูฮัมมัด ﷺ กับอบูบักร์ t ที่มีความสนิทสนมมาตั้งแต่วัยเด็กจนกระทั่งเสียชีวิต และไม่มีประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญใดๆในยุคเริ่มต้นของอิสลาม เว้นแต่จะปรากฏบทบาทอันโดดเด่นของอบูบักร์t อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์ของการฮิจญ์เราะฮฺ หากใช้สติแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม ก็จะทราบว่าเป็นไปไม่ได้ที่นบีมูฮัมมัด ﷺ จะถูกรายล้อมด้วยบรรดาสหายที่ชั่วช้า กลับกลอกและตกศาสนาตามข้ออ้างของลัทธิด่าเศาะหาบะฮฺเลย
5. นบีมูฮัมมัด ﷺ สามารถจุดเชื้อเพลิงด้านเผ่าพันธุ์เพื่อปลุกระดมกระแสความรุนแรงจนถึงขั้นเกิดสงครามกลางเมืองได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่แกนนำกุร็อยชฺและผู้กว้างขวางส่วนหนึ่งในเมืองมักกะฮฺได้ทยอยเข้ารับอิสลาม ในขณะที่ผู้เสียเปรียบในสังคมต่างก็รอคอยผู้ปลดปล่อยโซ่ตรวนแห่งความอยุติธรรมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นเชื้อเพลิงที่สามารถจุดประกายความขัดแย้งที่มีพลังที่สุด
แต่นบีมูฮัมมัด ﷺ ไม่เคยใช้เงื่อนไขด้านเผ่าพันธุ์เป็นข้ออ้างสำหรับการปลุกกระแสความขัดแย้งในสังคม เพราะสงครามที่เกิดขึ้นเนื่องจากความขัดแย้งด้านเผ่าพันธุ์ไม่อยู่ในสารระบบของอิสลามและไม่มีวันที่อิสลามจะประกาศสงครามด้วยเหตุผลเพียงปกป้องเผ่าพันธุ์..
นบีมูฮัมมัด ﷺ ได้กล่าวไว้ความว่า : “ผู้ที่เรียกร้องบนฐานแนวคิดการคลั่งไคล้ในชาติพันธุ์ ผู้ที่ทำสงครามบนฐานแนวคิดของการคลั่งไคล้ในชาติพันธุ์ และผู้ที่เสียชีวิตเนื่องจากการต่อสู้ในการปกป้องและพิทักษ์รักษาแนวคิดการคลั่งไคล้ในชาติพันธุ์ เขาเหล่านั้นไม่ใช่เป็นประชาชาติของฉัน” (บันทึกโดยอะบูดาวูด/5121)
6. เป็นที่น่าสังเกตว่าในขณะที่เยาวชนกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นปกป้องอิสลาม ดังภารกิจที่ปฏิบัติโดย อับดุลลอฮฺ บุตร อบูบักร์ และ อามิร บินฟุฮัยเราะฮฺ แม้กระทั่งหญิงสาวเช่นอาอิชะฮฺและอัสมาอ์ โดยเฉพาะท่านอะลี บินอะบีฏอลิบ t ซึ่งถือเป็นสุดยอดของการอุทิศตน ที่น่าเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับเยาวชนมุสลิมในปัจจุบันที่ต้องลุกขึ้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ปกป้องอิสลาม ไม่ใช่อยู่ในฐานะผู้ทำลายอิสลามเหมือนเยาวชนอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกยั่วยุและล้างสมองจากกลุ่มมิจฉาชนให้ปฏิบัติภารกิจครั้งสำคัญด้วยการรวมพลังพยายามฆ่านบีมูฮัมมัด ﷺ
พลังเยาวชนเปรียบเสมือนสายน้ำบริสุทธิ์ที่ไหลอย่างเชี่ยวกราก เพียงแต่ต้องการคนชี้นำที่คอยเปิดทางให้สายน้ำเหล่านั้นไหลไปในทิศทางที่ถูกที่ควร หากถูกต้องตามครรลองคลองธรรม ก็จะยังประโยชน์อันมหาศาล แต่หากถูกปล่อยปละละเลยไปตามกระแส หรือมีการเปิดช่องทางสู่วัตถุประสงค์ที่ผิดๆ แล้ว พลังแห่งสายน้ำเหล่านั้น ไม่เป็นเพียงต้นเหตุแห่งความปั่นป่วน โกลาหลและความสูญเสียเท่านั้น แต่เป็นสัญญาณแห่งความเศร้าสลดและสยองขวัญเลยทีเดียว
เยาวชนมุสลิมปัจจุบันต้องสำรวจตนเองว่า เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ปกป้องอิสลามหรือผู้ทำลายและสร้างความมัวหมองแก่อิสลาม เพราะอิสลามจะยังคงอยู่ แม้นปราศจากเรา แต่เราไม่สามารถอยู่ได้หากปราศจากอิสลาม
7. การที่มีใยแมงมุมและเหล่าสกุณาเข้ามาทำรังที่ปากถ้ำซึ่งเป็นที่ซ่อนตัวของนบีและอบูบักร์ จนทำให้ชาวกุร็อยชฺตายใจและไม่คาดคิดเลยว่าจะมีผู้คนย่างกรายเข้าไปในถ้ำนั้น ให้บทเรียนอันล้ำค่าแก่เราว่า ความช่วยเหลือของอัลลอฮฺ I ที่มีต่อผู้ให้ความช่วยเหลือศาสนาของพระองค์นั้นมากมายเหลือคณานับ ด้วยความปรีชาสามารถของอัลลอฮฺ พระองค์สามารถเกณฑ์เหล่าทหารของพระองค์ให้ทำหน้าที่ปกป้องผู้ทำงานเพื่ออิสลามจากภยันตรายต่างๆ ถึงแม้มนุษย์ทั้งผองจะปฏิเสธและไม่ยอมให้ความช่วยเหลือก็ตาม เพราะอัลลอฮฺ I ทรงมีเหล่าทหารหาญทั่วชั้นฟ้าและแผ่นดินที่พร้อมปกป้องอิสลาม ใครเคยนึกบ้างไหมว่าเส้นใยแมงมุมและรังนกที่เปราะบางที่ใครๆ ก็สามารถขย้ำตะปบได้อย่างง่ายดาย กลับกลายเป็นป้อมปราการอันแข็งแกร่งยิ่งกว่ากองทัพทั้งโลกที่สามารถสร้างความปลอดภัยแก่นบีและสหายรักของท่าน
บทสรุป เป็นการดียิ่ง หากเราลองทำความเข้าใจหะดีษบทหนึ่งความว่า “ผู้ที่ฮิจญ์เราะฮฺ(อพยพ)ที่แท้จริงคือผู้ที่อพยพ(ละทิ้ง)สิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้าม” (บันทึกโดยอัลบุคอรี/6484)
นับเป็นสิ่งที่เปล่าประโยชน์หากสังคมมุสลิมตื่นตัวเพียงแค่ศึกษาประวัติฮิจญ์เราะฮฺ ตลอดจนต้อนรับฮิจญ์เราะฮฺเป็นเทศกาลประจำปีอย่างเอิกเริกยิ่งใหญ่ แต่แนวคิด จุดยืน พฤติกรรม การปฏิบัติ รวมถึงการแสดงออกของสังคมมุสลิมยังสวนทางกับบทบัญญัติทางศาสนาและเจตนารมณ์ของฮิจญ์เราะฮฺอันแท้จริง