บทความ

อิสลามคืออะไร 


อิสลามคืออะไร 





ผู้คนส่วนใหญ่มักจะมีความเข้าใจศาสนาอิสลามจากการรับรู้ผ่านข่าวต่างๆ หรือที่ได้ยินได้ฟังมา ซึ่งการรับรู้และเข้าใจจากข้อมูลในด้านเดียวนั้น บางครั้งอาจคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง บางครั้งก็เสริมเติมแต่งหรือคิดเองจนเป็นเรื่องเท็จ  และบ้างก็อาจได้พบเจอมุสลิมผู้นับถือศาสนาอิสลามด้วยตนเองจากสังคมแวดล้อมรอบข้าง แต่การเข้าใจที่แท้จริงนั้นจึงจำเป็นต้องกลับไปสู่แหล่งที่มานั่นก็คือ คำสอน และบทบัญญัติของศาสนา โอ้พี่น้องที่เคารพครับ เมื่อมาถึงจุดนี้แล้ว มาเรียนรู้กันว่า อิสลามคืออะไร 


     "อัล-อิสลาม " ตามหลักภาษาคือ การนอบน้อม และการยอมจำนนตัวต่ออัลลอฮ์ ด้วยกับการเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์ พระผู้เป็นเจ้าและพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ผู้สร้างสรรพสิ่งทั้งมวล 


ความหมายของ อัล อิสลาม ในรูปแบบที่กว้าง คือ ศาสนาของอัลลอฮ์ที่ได้ทรงประทานลงมาเพื่อเป็นทางนำและธรรมนูญแก่มนุษยชาติ โดยผ่านสื่อกลางคือ บรรดาศาสนทูต ตั้งแต่ท่านนบีอาดัม จนกระทั่งถึงท่านนบีมูฮัมหมัด ศาสนทูตคนสุดท้าย โดยที่พวกเขาต่างเรียกร้องผู้คนสู่การศรัทธาต่ออัลลอฮ์ และภักดีต่อพระองค์เพียงองค์เดียว


ส่วนความหมายของ อัล- อิสลาม ในทางเจาะจง และเป็นที่รู้จักกันนั้น คือศาสนาที่อัลลอฮ์ได้ประทานให้แก่มนุษยชาติยุคสุดท้ายนี้ โดยผ่านท่านนบีมูฮัมหมัด ศาสนทูตท่านสุดท้าย (ขออัลลอฮ์ทรงอำนวยพรและความศานติสุขแก่ท่าน)  ด้วยกับหลักการและบทบัญญัติที่ครบถ้วนและสมบูรณ์ 


    อิสลาม คือศาสนาแห่งความสันติ เป็นศาสนาของอัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้า ผู้สร้างทุกสรรพสิ่งทั้งหลาย ผู้สร้างอาดัมและเฮาวา(เอวา, อีฟ) เป็นมนุษย์ที่มีรูปลักษณ์สมบูรณ์ตั้งแต่เริ่มแรก บิดามารดาแห่งมวลมนุษยชาติ  จากทั้งสองนั้นมนุษย์ได้สืบเผ่าพันธุ์ลูกหลาน กระจายตัวไปยังถิ่นต่างๆมากมาย  มนุษย์ทุกคนล้วนมาจากอาดัม และอาดัมถูกสร้างมาจากดิน ดังนั้น ในอิสลามจึงไม่มีแนวคิดความเชื่อเรื่องการวิวัฒนาการ จากสัตว์กลายเป็นคนแต่อย่างใด


 


       อิสลามมิใช่ศาสนาใหม่ แต่เป็นรากฐานสัจธรรมมาตั้งแต่กาลก่อน และเป็นทางนำซึ่งพระองค์ได้ทรงประทานให้แก่บรรดาศาสนทูตทุกท่านก่อนหน้านี้เช่น นบีอาดัม, นูฮฺ(โนอาห์), อิสมาอีล(อิชเมล), อิสหาก(อิชอัค-ไอแซค), มูซา (โมเสส), ดาวูด (เดวิด), สุลัยมาน (โซโลมอน), อีซา(พระเยซู) โดยที่พระองค์ได้ส่งพวกเขาเหล่านั้นมาเพื่อเรียกร้องมนุษย์ให้กลับมาสู่พระเจ้าของพวกเขา และให้พวกเขาทำการกราบไหว้ต่อพระองค์เพียงองค์เดียว โดยให้เอกภาพต่ออัลลอฮ์ในการเป็นเจ้า เรียกร้องให้มนุษย์หันกลับมายึดมั่นต่อพระองค์ในการขอความช่วยเหลือ ขอความคุ้มครอง และวิงวอนขอจากพระองค์เมื่อเกิดความยากลำบาก บอกข่าวการมาของศาสนทูตที่จะมาเผยแผ่อิสลามหลังจากพวกเขาเหล่านั้น  เรียกร้องให้ศรัทธาต่อวันสิ้นโลกที่จะมาถึง การตอบแทนการกระทำดี พิพากษาการกระทำชั่ว ตามที่อัลลอฮ์ได้ทรงตระเตรียมเอาไว้แล้ว


         อัลลอฮ์ – มหาบริสุทธิ์และความสูงส่งยิ่งแด่พระองค์ – ได้ทรงประทานคัมภีร์แห่งทางนำแด่มนุษยชาติมาพร้อมกับบรรดาศาสนทูต, ศาสดาประกาศกทุกยุคทุกสมัย ที่เหมาะสมกับผู้คนในแต่ละยุค เมื่อกาลเวลาผ่านไป ความรู้ได้หดหาย มนุษย์ได้มีการบิดเบือนถ้อยคำ ต่อเสริมเติมแต่งตามความคิดของตน และละทิ้งทางนำจนเลือนราง พระองค์จึงส่งศาสนทูตท่านอื่นๆหลังจากนั้นเพื่อมาตักเตือนและฟื้นฟูสัจธรรม จนกระทั้งถึงศาสนทูตท่านสุดท้าย คือท่านนบีมูฮำหมัด พระองค์ทรงส่งมา พร้อมกับถ้อยคำของพระองค์คือ พระมหาคัมภีร์ อัลกุรอ่าน ซึ่งคัมภีร์เล่มนี้พระองค์ได้ทรงสัญญาว่า พระองค์จะรักษามันตราบจนวันสิ้นโลก 


        อัลลอฮ์ได้มอบศาสนาอิสลามที่สมบูรณ์แก่มนุษยชาติด้วยคัมภีร์ของพระองค์ผ่านศาสดาประกาศก เป็นผู้เผยแผ่สู่ประชาชาติยุคสุดท้าย คือท่านนบีมูฮัมหมัด(ขออัลลอฮ์ทรงอำนวยพรและความศานติสุขแก่ท่าน) เป็นต้นแบบของการปฏิบัติความดี ทำตามคำสั่งใช้ ห่างไกลจากคำสั่งห้าม มีความยุติธรรม จรรยามารยาท มอบความรัก ความห่วงใย ความปรารถนาดีแก่ผู้คน มีความอดทน ความพากเพียรอุตสาหะ ได้อย่างเที่ยงตรง ครบถ้วนบริบูรณ์ตามนิยาม และพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า  


        ฉะนั้น การปฏิบัติตนตามหลักของอิสลาม และดำเนินวิถีชีวิตตามแบบฉบับของท่านนบีมูฮัมหมัด(ขออัลลอฮ์ทรงอำนวยพรและความศานติสุขแก่ท่าน) ในทุกๆมิติ อาทิ เรื่องของการศรัทธา ความเชื่อที่ใสสะอาด เรื่องการปฏิบัติศาสนกิจ การปฏิบัติตนในสังคม ศีลธรรม จรรยามารยาท การปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยสิทธิและหน้าที่ต่อกันและกัน ไม่อธรรม ไม่เบียดเบียนต่อกันทั้งกาย วาจา ความรู้สึก ความพอเพียงในทรัพย์สิน การอบรมสั่งสอนบุตรหลาน การปฏิบัติต่อครอบครัว ญาติมิตรสหาย สิทธิและหน้าที่ของสามี-ภรรยาที่ควรมีต่อกัน การแสวงหาปัจจัยยังชีพที่บริสุทธิ์ ปราศจากความโสมม ตามทำนองคลองธรรมของอิสลาม และเชื่อมั่นต่อการตอบแทนความดีด้วยสวรรค์อันอภิรมย์ และเกรงกลัวต่อบทลงโทษความเลวทรามชั่วร้ายด้วยนรกอันทรมานแสนสาหัส  ด้วยกับการยึดมั่นดังกล่าวนี้ จะนำมาซึ่งความศานติ สุขสงบในสังคม เป็นประชาคมที่มีเสถียรภาพในศีลธรรมความดีงาม 


         ผู้ที่ศรัทธานับถือ ศาสนาอิสลาม เรียกว่า “มุสลิม” มุสลิมทุกคนมีหน้าที่ปฏิบัติศาสนกิจตามคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้าโดยเท่าเทียมกันหมด อิสลามจึงไม่มีนักบวชที่แยกตน ปลีกวิเวก หรือละทิ้งความต้องการโดยธรรมชาติที่อัลลอฮ์ทรงสร้างมา และมิได้แบ่งแยกแนวทางปฏิบัติเป็นลัทธิ, นิกายตามความคิดใหม่ๆของมนุษย์ หรือปรับเปลี่ยนบทบัญญัติแต่อย่างใดไม่ ระหว่างศาสนิกชนกับผู้นำ ผู้รู้กับคนธรรมดา คนมั่งมีกับคนยากจน  ทุกคนมีความเท่าเทียมกันในการปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติของอัลลอฮ์ 


       มุสลิมคือผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ ด้วยใจที่เชื่อมั่น เป็นผู้ที่ยอมจำนนตัวต่อพระองค์โดยการปฏิบัติตามข้อสั่งใช้, ละเว้นจากสิ่งที่ถูกสั่งห้าม แสวงหาความรู้ความเข้าใจ แก่นสารศาสนาของตนเพื่อนำมาปฏิบัติ ดำเนินชีวิต โดยมุ่งหวังความพึงพอพระทัย และรางวัลการตอบแทนจากเอกองค์อัลลอฮ์เพียงผู้เดียว


อิสลามตั้งอยู่บนเสาหลัก 5 ประการ





       มุสลิมทั้งมวลนั้นมีสิทธิต่ออัลลอฮ์ มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติศาสนกิจต่อพระองค์โดยเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะยากดี มีจน กษัตริย์หรือประชาชนธรรมดา จะมีตำแหน่งแห่งหนใดๆก็ตาม ล้วนต้องปฏิบัติศาสนกิจ เมื่อบรรลุศาสนภาวะตามวัยที่หลักศาสนากำหนด เรียกว่า “หลักอิสลาม 5 ประการ” หรือ รู่ก่นอิสลาม


1 - การปฏิญาณตน 


คือการยอมรับว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรแก่การกราบไหว้นอกจากอัลลอฮ์ และยอมรับว่าท่านนบีมูฮัมหมัดเป็นศาสนทูตของพระองค์


หมายถึง การเชื่อมั่นศรัทธา ประกาศตนว่า อัลลอฮ์นั้นคือพระผู้เป็นเจ้าสูงส่งเพียงองค์เดียว ที่ควรแก่การสักการะกราบไหว้ เคารพภักดี ผู้ที่คู่ควรกับการวิงวอนขอพร ขอความช่วยเหลือ และไม่ยึดสิ่งอื่นใดมาเป็นภาคีกับพระองค์ เพราะพระองค์คือผู้สร้าง ไม่มีภาคีหรือผู้มีส่วนร่วมใดๆกับพระองค์ในการสร้างสรรพสิ่งต่างๆ พระองค์คือผู้รับการสารภาพผิด ตอบรับคำวิงวอน การขอลุแก่โทษของบ่าว พระองค์คือเจ้าแห่งชีวิต ความเป็นและความตายล้วนอยู่ในพระประสงค์ของพระองค์ ไม่มีสิ่งใดสามารถให้คุณและให้โทษต่อมนุษย์ได้นอกจากสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์เท่านั้น 


            และยอมรับว่ามูฮัมหมัดนั้น คือศาสนทูตของพระองค์ เป็นผู้แจ้งข่าว ผู้นำสาส์น เป็นผู้ประกาศยืนยันการมีอยู่ของพระองค์ เรียกร้องผู้คนไปสู่พระองค์ เป็นผู้ปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างในเรื่องของศาสนกิจ การเคารพภักดีต่อพระองค์ และแบบอย่างของการปฏิบัติตนในสังคม เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของมารยาท ความนอบน้อม เที่ยงธรรม ยุติธรรม เมตตา ปรานี คุณธรรม ศีลธรรม ความอดทน มารยาทอันสมบูรณ์แบบ ซึ่งประจักษ์ต่อมวลมนุษยชาติ และเป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์แบบ สำหรับผู้ศรัทธาจะต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามท่าน 


การปฏิญาณนี้ คือกุญแจสู่อิสลาม หากใครที่ได้กล่าว โดยเชื่อมั่น และน้อมรับต่อคำปฏิญาณนี้ เขาผู้นั้นคือมุสลิม


2- การดำรงไว้ซึ่งการละหมาด 


       ละหมาด, นมาซ ภาษาอาหรับเรียกว่า อัศ-ศอลาฮ์ คือศาสนกิจที่จำเป็นที่สุดของมุสลิมทุกคน มุสลิมจะทำการละหมาดในรอบวันและคืน 5 เวลา คือ ก่อนตะวันขึ้น, หลังเที่ยงตะวันคล้อยเล็กน้อย, หลังตะวันคล้อยบ่ายเข้าสู่ช่วงเย็น, หลังตะวันตกดิน, และหลังแสงตะวันหมดไปจากขอบฟ้า ซึ่งการละหมาดนั้นมีวิธีการที่เฉพาะ และบทวิงวอนต่างๆ


        และจากเงื่อนไขของการละหมาด มุสลิมจะต้องอาบน้ำละหมาดด้วยการชำระร่างกายบางส่วน และสำรวมจิตใจเพื่อที่จะเข้าหาอัลลอฮ์ ดั้งนั้น มุสลิมจะมีการชำระร่างกายและจิตใจให้สะอาดเป็นประจำทุกวัน 5 เวลา 


   การละหมาดนั้น ประมวลไปด้วย การแสดงออกซึ่งความภักดี กราบนอบน้อม ยอมจำนน สักการะต่ออัลลอฮ์  สรรเสริญ ขอบคุณต่อพระองค์ มอบความกตัญญูรู้คุณต่อพระองค์ วิงวอนขอพรจากพระองค์โดยตรง โดยไม่มีใครเป็นสื่อกลาง ซึ่งมุสลิมไม่สามารถจะปฏิบัติเช่นนี้ต่อสิ่งอื่นได้


    การละหมาดยังสร้างคุณูปการให้กับมุสลิม เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างบ่าวกับผู้เป็นเจ้า ไม่ทำให้เขาห่างไกลจากอัลลอฮ์ เชื่อฟัง ยำเกรงต่อพระองค์ เพิ่มระดับความศรัทธาในการปฏิบัติความดีงาม ยับยั้งจากการฝ่าฝืนหลักการศาสนา สิ่งลามกและสิ่งชั่วร้ายอันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคม 


     การละหมาดจะมีการยืนในแถวเดียวกัน สร้างความกลมเกลียว ความรักความสามัคคีกัน สร้างมิตรภาพที่ดีในสังคม ในละหมาดเราจะเห็นคนผิวขาวและผิวดำยืนอยู่ไกล้กันในแถวเดียวกัน คนอาหรับอยู่ข้างคนที่ไม่ใช่อาหรับ คนจนอยู่ข้างคนรวย หัวหน้ายืนอยู่ข้างคนงาน และบางครั้งเราจะเห็นอีหม่ามที่นำผู้คนในละหมาด เป็นคนที่ยากจน ทำงานในตำแหน่งที่ต่ำต้อย, แต่คนที่ละหมาดตามเขากลับเป็นบุคคลที่มีตำแหน่งสูงส่ง  ที่เป็นเช่นนั้นได้ เพราะเขาเป็นผู้ที่มีความรู้และสามารถอ่านคัมภีร์ของอัลลอฮ์ได้ดีที่สุด 





      การดำรงรักษาการละหมาดอย่างถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ของมุสลิมคนหนึ่ง เป็นการสะสมเสบียงการงานที่ดีสำหรับเขา นำไปสู่ความพึงพอพระทัยของอัลลอฮ์ ให้มีการเป็นอยู่ที่มีสุข มั่งคั่ง มีภาคผลบุญตอบแทนอย่างแน่นอนตามที่พระองค์ได้สัญญาเอาไว้ เป็นหนทางไปสู่สวนสวรรค์อันนิรันดร์ การละหมาดจึงเป็นเหตุให้ผู้ศรัทธามีความสุขมากที่สุด








3- การจ่ายซะกาต(ทานภาคบังคับ)  


          อัลลอฮ์ ผู้ทรงรอบรู้ยิ่ง ทรงบัญญัติหน้าที่การจ่ายซะกาต สำหรับมุสลิมที่มีทรัพย์สินในครอบครอง ครบจำนวนที่กำหนด และครบรอบปี ให้จ่าย 2.5 % จากทรัพย์สินทั้งหมด โดยนำทรัพย์สินอันเล็กน้อยนี้ออกมาเพื่อมอบแก่ผู้ยากจน ขัดสน หรือผู้มีสิทธิ์ได้รับ ตามที่อัลลอฮ์ทรงระบุไว้ในอัลกุรอ่าน


           ในสังคมหนึ่งนั้น ย่อมจะมีทั้งผู้มั่งมี และผู้ยากจนอยู่ร่วมกัน เป็นเรื่องที่อัลลอฮ์ทรงกำหนดให้แต่ละคนมีสถานะที่ต่างกันไป พระองค์ทรงรู้ดียิ่งว่ามนุษย์นั้นมีลักษณะเช่นไร หากโลกนี้มีแต่คนร่ำรวย พวกเขาก็จะไม่ใส่ใจกันและกัน แข่งขันกันอวดความมั่งมี หมกมุ่นในทรัพย์สมบัติ และหลงลืมพระผู้เป็นเจ้า มนุษย์นั้นต้องการสิ่งที่ดีกว่า เหนือกว่า ไม่มีที่สิ้นสุด ซ้ำยังคิดว่าพวกเขาจะไม่ตาย  


            และหากโลกนี้ มีแต่คนยากจน พวกเขาก็จะแก่งแย่งกัน ฟาดฟันกันเพื่อเอาตัวรอด ทำทุกวิถีทางเพื่อให้พ้นจากความแร้นแค้นโดยไม่สนใจศีลธรรม ตำหนิตัดพ้อพระผู้เป็นเจ้า ไม่เห็นคุณค่าของชีวิตและต้องการหลุดพ้นไปจากมัน 


            พระองค์จึงทำให้มีทั้งคนรวยและคนจนในสังคม เพื่อเกื้อกูลต่อกัน และความยุติธรรมของพระองค์นั้น ไม่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำแต่อย่างใด คนยากจนผู้ดำรงศีลธรรมความดี ความศรัทธา จะได้เข้าสวรรค์ก่อนคนรวยถึง 500 ปี สำหรับคนมั่งมี ร่ำรวย จะถูกสอบสวนในโลกหน้ามากกว่าคนยากจน ในทรัพย์ที่เขาเคยครอบครองไว้


            การจ่ายซะกาต เป็นการขจัดความตระหนี่ถี่เหนียว ความหวงแหนในทรัพย์สิน ชำระความผิดบาป ปลดเปลื้องมลทิน เนื่องด้วยเขาได้เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า   เป็นหนึ่งในหนทางที่ดีงามของการบรรเทาความลำบากของผู้ที่ยากจน  คลายความทุกข์ร้อนของผู้ที่ขัดสน  แก้ปัญหาความยากจน การุณต่อเพื่อนมนุษย์ คนที่ได้รับความเมตตา ความสะดวกสบายจะเกิดจิตสังเวช และความอาทรต่อความเป็นอยู่ของผู้ที่ยากจน  และสร้างความแน่นแฟ้นในสังคมด้วยความภักดีในคำสั่งของอัลลอฮ์ มีความรักใคร่ เกื้อกูลกันระหว่างคนรวยและคนจน พระองค์จะทรงตอบแทนแก่ผู้จ่ายซะกาตเสมือนกับการที่เขาได้ช่วยเหลือผู้อื่นทั้งในโลกนี้และโลกหน้า 





4 - การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน


       การถือศีลอด คือการระงับตนจากการกินและการดื่ม ระงับความต้องการทางเพศ ยับยั้งอารมณ์พุ่งพล่าน งดกล่าวคำผรุสวาท คำพูดที่ไร้สาระ ขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์ ส่งเสริมให้มากด้วยความดี ปฏิบัติศาสนกิจ และถ้อยคำรำลึกพระผู้เป็นเจ้า


       การถือศีลอดเริ่มตั้งแต่รุ่งอรุณ จนกระทั่งตะวันลับขอบฟ้า ศาสนากำหนดให้มีการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนอันเป็นเดือนที่ 9 ทางจันทรคติแห่งปีอิสลาม เป็นบัญญัติศาสนกิจที่บังคับแก่มุสลิมทุกคน ที่ถึงวัยบรรลุศาสนภาวะ(เช่นเดียวกับการละหมาด) นอกจากผู้ได้รับการยกเว้น เช่น ผู้ป่วย, ผู้เดินทาง ฯลฯ


       บัญญัติการถือศีลอดนี้ เพื่อให้ผู้ศรัทธาได้แสดงความภักดีต่อคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า ฝึกการอดทนต่อความหิวกระหาย ได้รับรู้ถึงรสชาติของคนยากคนจนที่ไม่มีอันจะกิน ให้เกิดความเห็นใจ สงสาร และเอื้ออาทรต่อคนยากไร้ เพื่อขัดเกลาจิตใจให้สงบ สำรวม ออกห่างจากสิ่งยั่วยวน ไร้สาระต่างๆ เป็นโอกาสในการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงความประพฤติของตน พัฒนาตนเองให้ใกล้ชิดต่ออัลลอฮ์มากยิ่งขึ้น


     การถือศีลอดยังมีประโยชน์ในเรื่องสุขภาพ โดยที่การถือศีลอดจะช่วยให้ระบบย่อยอาหารได้พักผ่อน  ร่างกายจะดึงไขมันส่วนเกินมาเป็นพลังงานทดแทน เป็นสาเหตุในการช่วยป้องกันและรักษาจากโรคร้ายต่างๆ และจะช่วยให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง


การถือศีลอดไม่ได้มีประโยชน์แต่เพียงโลกนี้เท่านั้น หากแต่ภาคผลบุญของมันนั้นมหาศาล เป็นการฝึกและเสริมสร้างความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮ์มากที่สุด เพราะมันเป็นการภักดีที่ขึ้นอยู่ระหว่างเขากับพระองค์ ผู้ศรัทธาจะถือศิลอดทั้งทางลับและเปิดเผย ไม่มีผู้ใดจะรู้ถึงการถือศิลอดของเขาได้นอกจากพระองค์ 





    การถือศีลอดยังสร้างความเป็นเอกภาพของพี่น้องมุสลิม ที่พวกเขามีความแตกต่างกันทั้งในด้านระดับสถานะ สีผิว และชาติพันธุ์ของพวกเขา ทั้งหมดต่างถือศีลอดในเวลาเดียวกัน, เมื่อถึงเวลาของการถือศีลอด และการละศีลอด พวกเขาก็จะถือศีลอด และละศีลอดอย่างพร้อมเพรียงกัน


     เราจะสังเกตได้ว่า เมื่อรอมฎอน เดือนแห่งการถือศีลอดมาถึง บรรดาชาวมุสลิมจะขะมักเขม้นในการปฏิบัติศาสนกิจอย่างพร้อมเพรียงกัน มีความตื่นตัว ละทิ้งความวุ่นวายจากกิจกรรมอื่นๆ ทั้งนี้เพราะพวกเขาต่างแสวงหาความพึงพอพระทัยจากพระผู้เป็นเจ้า ด้วยการยึดมั่นในคำสั่งของพระองค์  


5 - การปฏิบัติพิธีฮัจญ์ ณ เมืองมักกะห์ 


       ฮัจญ์ เป็นศาสนกิจเดียวที่มีการกำหนดสถานที่โดยเฉพาะ ส่วนการปฏิบัติศาสนกิจอื่นนั้น มุสลิมสามารถปฏิบัติได้ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใดในโลก  การประกอบพิธีฮัจญ์นั้น เป็นศาสนบัญญัติที่บังคับสำหรับมุสลิมทุกคน หนึ่งครั้งในช่วงชีวิต และโดยเงื่อนไขว่าจะต้องมีความสามารถความพร้อมทั้งสุขภาพและมีทรัพย์เพียงพอที่จะใช้จ่าย 


       อัลลอฮ์ ได้ตรัสไว้ในอัลกุรอ่าน ซึ่งมีความว่า


" แท้จริงบ้านหลังแรกที่ถูกตั้งขึ้นสำหรับมนุษย์(เพื่อการภักดีต่ออัลลอฮ์) นั้นคือบ้านที่มักกะฮ์ โดยเป็นที่ที่ถูกให้มีความจำเริญ และเป็นที่แนะนำแก่ประชาชาติทั้งหลาย (96) ในบ้านนั้น มีหลายสัญญาณที่ชัดแจ้ง(ส่วนหนึ่งนั้น)คือมะกอม(ที่ยืน)ของอิบรอฮีม และผู้ใดได้เข้าไปในบ้านนั้น เขาก็เป็นผู้ปลอดภัยและสิทธิของอัลลอฮ์ที่มีแก่มนุษย์นั้น คือการมุ่งสู่บ้านหลังนั้น สำหรับผู้ที่มีความสามารถเดินทางไปยังบ้านหลังนั้นได้ และผู้ใดปฏิเสธ แท้จริงอัลลอฮ์นั้นไม่ทรงพึ่งพาต่อประชาชาติทั้งหลาย”(   )  (อัลกุรอ่าน บท อาล อิมรอน 96-97) 


       ฮัจญ์เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นพี่น้องและเอกภาพของอิสลาม ไม่ว่าพวกเขาจะมาจากทิศทางไหน เผ่าตระกูลใด ชนชาติอะไร ภาษาและวัฒนธรรมที่ต่างกัน สถานะทางสังคมแตกต่างกันเช่นไร เมื่อมารวมอยู่ในพิธีฮัจญ์ พวกเขาต้องสำรวมตน มุ่งเข้าหาอัลลอฮ์เพียงองค์เดียว สวมใส่ชุดแบบเดียวกัน มีจุดมุ่งหน้าเดียวกัน ทำการภักดีต่ออัลลอฮ์อย่างพร้อมเพรียงกัน ตามแบบฉบับของท่านนบีคนเดียวกัน ในสถานที่เดียวกัน มีความเท่าเทียมกัน ความเป็นหนึ่งเดียวในความศรัทธาจึงปรากฏขึ้น เป็นการสร้างมิตรภาพแห่งการศรัทธาและการเป็นพี่น้องในศาสนา และเป็นการขจัดความคิดเหยียดเชื้อชาติ หรือการแบ่งชนชั้นวรรณะในพิธีการทำฮัจญ์อันยิ่งใหญ่นี้ 


       ฮัจญ์ เป็นโรงเรียนแห่งพลังศรัทธาและกระตุ้นการทำความดี เพื่อให้มุสลิมคุ้นเคยกับความอดทน ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความรักใคร่ ความสามัคคี การช่วยเหลือเผื่อแผ่ มีความกลมเกลียว ความเมตตาซึ่งกันและกัน รำลึกถึงวันสิ้นโลก ความน่าสะพรึงกลัวของมัน และพร่ำขออภัยโทษต่อพระองค์ ด้วยสำนึกแห่งความเสียใจและกลับตัวกลับใจจากความผิดบาป เกิดความรู้สึกปิติยินดีที่ได้เป็นบ่าวรับใช้พระองค์ และรับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ มีความสุขกับการที่ได้พบเจอกับพี่น้องผู้ร่วมศรัทธาที่มาจากทั่วทุกมุมโลก


       ผู้ที่ประกอบพิธีฮัจญ์ ด้วยความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮ์ ปราศจากความโอ้อวด และทำอย่างถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ อัลลอฮ์ – มหาบริสุทธิ์และความสูงส่งยิ่งแด่พระองค์ – จะทรงลบล้างบาปของเขาออก ให้บริสุทธิ์เสมือนวันที่เขาคลอดออกจากครรภ์มารดา



กระทู้ล่าสุด

ข้อความจากนักเทศน์มุส ...

ข้อความจากนักเทศน์มุสลิมถึงคริสเตียน

อานิสงส์ของการถือศีลอ ...

อานิสงส์ของการถือศีลอดหกวันชาวาล

สาส์นอันหนึ่งเดียวเท่ ...

สาส์นอันหนึ่งเดียวเท่านั้น

อิสลามกล่าวถึงอะไรเกี ...

อิสลามกล่าวถึงอะไรเกี่ยวกับการก่อการร้าย