อิสลามเป็นศาสนาที่สนับสนุนการประกอบอาชีพและการทำมาหากินอย่างสุจริต การทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพเช่นนี้ อิสลามถือว่าเป็นสิ่งที่มีเกียรติ เพราะเป็นการเลี่ยงจากการขอทานผู้อื่นซึ่งทำให้ตัวเองดูต่ำต้อย
มีหะดีษจากท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ที่ได้กล่าวสนับสนุนการทำงานไว้มีความว่า “ผู้ใดผู้หนึ่งจะไม่รับประทานอาหารใดๆ ที่ประเสริฐไปกว่าสิ่งที่เขาได้หามาด้วยการทำงานจากน้ำมือของตัวเอง” (รายงานโดย อัล-บุคอรีย์)
การทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยตัวเองแม้เพียงด้วยงานเล็กๆ ที่อาจจะดูไม่มีเกียรติใดๆ ทางสังคมเลย แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งประเสริฐในอิสลาม ดีกว่าการขอจากผู้อื่นโดยไม่ยอมทำงาน ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวไว้มีความว่า “การที่พวกท่านผู้ใดผู้หนึ่งหาฟืนแล้วแบกบนหลังเอาไปขายนั้น ย่อมดีกว่าการเที่ยวขอจากผู้อื่น ซึ่งเขาอาจจะให้หรือไม่ให้” (รายงานโดย อัล-บุคอรีย์)
หะดีษข้างต้นนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามุสลิมไม่ควรมีนิสัย ขี้เกียจทำงาน หรืองอมืองอเท้าไม่ยอมทำอะไรเป็นการเป็นงาน เพราะนั่นเป็นนิสัยของความไม่เจริญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเที่ยวขอทานจากผู้อื่นยิ่งเป็นสิ่งที่อิสลามไม่สนับสนุน
ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวไว้มีความว่า “เศาะดะเกาะฮฺนั้นไม่เหมาะสำหรับคนรวย คนที่สมบูรณ์พร้อมทางด้านร่างกาย หรือคนที่แข็งแรงและสามารถทำงานได้” (รายงานโดย อัด- ดาเราะกุฏนีย์)
อิสลามสนับสนุนให้ทำงานเพื่อจะได้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองและสามารถแบ่งปันให้กับผู้อื่นด้วย ผู้ที่ให้นั้นย่อมต้องดีกว่าผู้ที่รับ เช่นที่ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวไว้มีความว่า “มือข้างบน (ผู้ให้) ดีกว่ามือล่าง (ผู้รับ)” (รายงานโดย อัล-บุคอรีย์)
ดังนั้นเราจึงพบว่าบรรพบุรุษอิสลามสมัยก่อนทั้งบรรดานบีทั้งหลายก็เป็นคนที่ทำงาน เช่นนบีมูซาเคยรับจ้างทำงานเลี้ยงแพะ นบี ดาวูดก็ทำงานและหาเลี้ยงชีพจากน้ำมือของตน “ท่านนบีดาวูดไม่เคยกินอาหารใดเว้นแต่ที่ได้มาจากการทำงานด้วยน้ำมือของตน” (รายงานโดย อัล-บุคอรีย์)
ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เองก็เคยทำงานเช่นกัน สมัยที่ยังเป็นเด็กท่านเคยรับจ้างเลี้ยงแพะและเมื่อเป็นหนุ่มท่านเคยทำงานเป็นพ่อค้า และเคยเดินทางค้าขายถึงเมืองซีเรีย
เศาะหาบะฮฺของท่านก็มีอาชีพต่างๆ หลากหลาย เช่น ท่านอบูบักรฺ นั้นเป็นช่างฝีมือและเป็นพ่อค้า ท่านอุมัรฺ เป็นชาวสวน ท่านอุษมานเป็นพ่อค้า บางท่านนั้นมีทรัพย์สินมากมายจากการค้าขาย ทุกคนล้วนขยันขันแข็งในการทำงาน ในขณะที่ไม่เคยละทิ้งภารกิจอื่นๆ ทางศาสนาเลยแม้แต่น้อย
แบบอย่างต่างๆ เหล่านี้สามารถที่จะเป็นแนวทางที่ดีสำหรับคนรุ่นหลัง เพราะอิสลามเป็นศาสนาที่เอาใจใส่ในทุกๆ เรื่องของมนุษย์ ซึ่งรวมทั้งการทำงานหาเลี้ยงชีพด้วย เห็นได้ชัดจากการที่อิสลามสนับสนุนให้ทำงาน และกำหนดจริยธรรมในการทำงาน เช่น ต้องซื่อสัตย์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ยักยอกคดโกง เป็นต้น
- ข้อคิดที่ได้รับจากบทเรียน
1. การทำงานอย่างสุจริตเพื่อหาเลี้ยงชีพเป็นสิ่งที่อิสลามสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง
2. การทำงานไม่ว่าจะเป็นอาชีพอะไรก็ตาม ถ้าหากเป็นอาชีพที่สุจริตแล้ว ล้วนเป็นสิ่งที่มีเกียรติถึงแม้จะดูต่ำต้อยในสายตาผู้อื่น
3. อิสลามไม่สนับสนุนให้ขอทานจากผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่มีความสามารถจะทำงานได้
4. อิสลามต้องการให้มุสลิมเป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับ
5. การทำงานเป็นสิ่งที่บรรดานบีและคนรุ่นก่อนได้ทำไว้เป็นแบบอย่างให้คนรุ่นหลังได้ทำตาม
- คำถามหลังบทเรียน
1. ท่านคิดว่าการทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพด้วยตัวเองมีคุณค่าหรือไม่? อย่างไร?
2. ท่านคิดว่าจริยธรรมในการทำงานมีอะไรบ้าง? กรุณายกตัวอย่าง