บทความ

การขอดุอาอฺหรือการขอพรต่ออัลลอฮฺเป็นอิบาดะฮฺที่ทำได้ง่ายที่สุด แต่มีความสำคัญอย่างมหาศาล การขอดุอาอฺนอกจากจะเป็นการขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺในเรื่องต่างๆ ที่ผู้ขอมีความต้องการแล้ว    ยังเป็นการสร้างความผูกพันอย่างแนบแน่น ระหว่างมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งจะเป็นแรงใจและพลังทางจิตวิญญาณให้มนุษย์มีความมั่นคงสามารถต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตได้เสมอ





ดังนั้น ดุอาอฺจึงเปรียบเสมือนอาวุธของผู้ศรัทธา ที่สามารถใช้ได้ทุกครั้งยามที่ประสบกับปัญหาและความยากลำบากอันเป็นบททดสอบในชีวิต ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวไว้มีความว่า    “ดุอาอฺเป็นอาวุธของผู้ศรัทธา เป็นเสาหลักของศาสนา เป็นรัศมีแห่งฟากฟ้าและแผ่นดิน” (รายงานโดยอัล-หากิม)





เหตุที่การขอดุอาอฺมีสถานะที่สูงส่งเช่นนี้ เพราะการขอดุอาอฺ คือการยอมรับโดยศิโรราบต่อความเป็นพระเจ้าขององค์อัลลอฮฺ การขอจากพระองค์เป็นเครื่องหมายว่าบ่าวนั้นศรัทธาว่าพระองค์ทรงอานุภาพ และเป็นผู้ที่เพียบพร้อมด้วยปัจจัยต่างๆ ที่สามารถจะให้แก่บ่าวได้ หัวใจของการขอดุอาอฺจึงอยู่ที่การยอมรับในความเกรียงไกรแห่งผู้เป็นเจ้านี่เอง เพราะถ้าหากมนุษย์ไม่เชื่อและยอมรับในพระเจ้าก็ย่อมต้องไม่วอนขอจากพระองค์





ด้วยเหตุนี้อัลลอฮฺจึงมีบัญชาให้มนุษย์ขอดุอาอฺจากพระองค์ พระองค์ทรงรักที่จะให้บ่าวนั้นขอดุอาอฺ ในขณะเดียวกันพระองค์จะไม่โปรด ถ้าหากมนุษย์นิ่งเฉยไม่ยอมขอดุอาอฺ เพราะถือว่าเป็นการแสดงออกถึงความหยิ่งยโสต่อพระองค์ ผู้ซึ่งมีความเมตตาล้นพ้นต่อปวงบ่าว อัลกุรอานระบุไว้มีว่า





وَقَالَ رَبُّكُمُ ادْعُونِي أَسْتَجِبْ لَكُمْ إِنَّ الَّذِينَ يَسْتَكْبِرُونَ عَنْ عِبَادَتِي سَيَدْخُلُونَ جَهَنَّمَ دَاخِرِينَ (سورة غافر:60) 





“และพระผู้เป็นเจ้าของพวกเจ้าได้สั่งว่า จงขอดุอาอฺจากฉัน แท้จริงบรรดาผู้ยโสในการอิบาดะฮฺต่อฉัน จะต้องเข้านรกญะฮันนัมในสภาพที่ต่ำต้อย” (อัลกุรอาน ฆอฟิรฺ: 60)





อัลลอฮฺทรงเป็นผู้ที่เมตตาต่อมนุษย์ด้วยการเปิดโอกาสให้พวกเขาขอดุอาอฺจากพระองค์โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ ไม่จำกัดภาษาที่ใช้ขอ เพียงแต่มีเงื่อนไข คือต้องตอบรับคำบัญชาของพระองค์และศรัทธาต่อพระองค์เท่านั้น พระองค์ได้ตรัสว่า





وَإِذَا سَأَلَكَ عِبَادِي عَنِّي فَإِنِّي قَرِيبٌ أُجِيبُ دَعْوَةَ الدَّاعِ إِذَا دَعَانِ فَلْيَسْتَجِيبُواْ لِي وَلْيُؤْمِنُواْ بِي لَعَلَّهُمْ يَرْشُدُونَ (سورة البقرة:186) 





“และเมื่อใดที่บ่าวของฉันสอบถามเจ้าเกี่ยวกับฉัน ก็ (จงตอบว่า) แท้จริงฉันนั้นอยู่ใกล้ คอยรับดุอาอฺจากผู้วอนขอเมื่อเขาขอจากฉัน ดังนั้นให้พวกเขาตอบรับฉัน และให้พวกเขาศรัทธาต่อฉัน เพื่อพวกเขาจะได้รับการชี้นำ” (อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ: 186)





มนุษย์ทุกคนควรต้องสำนึกว่า ไม่มีผู้ใดอีกแล้วที่รู้ซึ้งถึงความจำเป็นและความต้องการของตนมากกว่าพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ผู้เดียวคือผู้ที่สามารถขจัดทุกข์ภัยที่มนุษย์ประสบ พระองค์จะทำให้ความยากเป็นสิ่งที่ง่าย ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนอยู่ในกำมือของพระองค์และล้วนเป็นไปตามที่พระองค์ทรงประสงค์ อีกทั้งพระองค์ยังเปี่ยมด้วยความกรุณาเมตตาที่มากมายยิ่งนัก





ดังนั้นยังพระองค์เท่านั้นที่เขาต้องวอนขอ และต้องเพียรพยายามไม่เกียจคร้านที่จะขอจากพระองค์





อัลลอฮฺได้ตรัสว่า





أَمَّن يُجِيبُ الْمُضْطَرَّ إِذَا دَعَاهُ وَيَكْشِفُ السُّوءَ وَيَجْعَلُكُمْ خُلَفَاء الْأَرْضِ أَإِلَهٌ مَّعَ اللهِ قَلِيلاً مَّا تَذَكَّرُونَ (سورة النمل:62) 





“หรือมีผู้ใดเล่าที่ตอบรับผู้ที่วอนขอยามคับขัน และผู้ที่ขจัดความชั่วร้ายออกไป และผู้ที่ทำให้พวกเจ้าได้ปกครองแผ่นดิน (นอกเสียจากอัลลอฮฺ) ยังมีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺอีกหรือ? น้อยนักที่พวกเจ้าคิดใคร่ครวญ” (อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัน-นัมลฺ: 62)





- ข้อคิดที่ได้รับจากบทเรียน





1.การขอดุอาอฺมีสถานะที่สูงส่งในอิสลาม เพราะเป็นการยอมรับในพระผู้เป็นเจ้า





2.การขอดุอาอฺมีผลดีต่อมนุษย์อย่างใหญ่หลวง เช่น เป็นการขอในสิ่งที่เขามีความประสงค์ เป็นการสร้างความผูกพันกับอัลลอฮฺ เป็นกำลังใจในการต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรค์เป็นต้น





3.อัลลอฮฺสั่งให้มนุษย์วอนขอจากพระองค์เท่านั้น การไม่ยอมขอ  ดุอาอฺถือเป็นการหยิ่งยโสต่อความเมตตาของพระองค์





4. เงื่อนไขสำคัญที่อัลลอฮฺจะทรงตอบรับดุอาอฺของมนุษย์คือการศรัทธาต่อพระองค์อย่างบริสุทธิ์ใจ





5.ไม่มีผู้ใดที่อาจจะเทียบเคียงพระผู้เป็นเจ้าได้ ดังนั้นหน้าที่ของมนุษย์ก็คือ การเคารพภักดีพระองค์ และต้องมอบความไว้วางใจด้วยการขอดุอาอฺจากพระองค์เท่านั้น





- คำถามหลังบทเรียน





1. ท่านคิดว่าการขอดุอาอฺให้ประโยชน์อะไรแก่มนุษย์บ้าง? กรุณาแสดงความคิดเห็น





2.ท่านคิดว่าเหตุใดการไม่ขอดุอาอฺจึงเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺไม่ทรงโปรด?





3. ท่านคิดว่ามีสิ่งใดบ้างในชีวิตที่ท่านอยากขอดุอาอฺจากอัลลอฮฺมากที่สุด? กรุณาให้เหตุผล





“อามัลฺ” หรือข้อปฏิบัติทางศาสนาในอิสลามนั้นมีมากมายหลายประการ ทุกอย่างล้วนอยู่บนหลักพื้นฐานของการแสดงความเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ สร้างความผูกพันกับพระองค์ และยืนยันในความศรัทธาอันเหนียวแน่นที่มีต่อพระองค์





ข้อปฏิบัติต่างๆ เหล่านี้อาจจะมีความยากง่ายแตกต่างกัน แต่ทั้งหมดก็มีจุดประสงค์อยู่บนหลักที่กล่าวมาแล้วด้วยกันทั้งสิ้น 





“ซิกรฺ” หรือการรำลึกถึงอัลลอฮฺ คืออามัลฺ ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าศาสนกิจอื่นๆ ที่อาจจะทำได้ยากกว่าเพราะต้องมีเงื่อนไขหรือกาลเทศะที่ถูกต้องเหมาะสม แต่การรำลึกถึงอัลลอฮฺสามารถที่จะทำได้ทุกเมื่อทุกที่ทุกเวลาโดยแทบจะไม่มีเงื่อนไขใดๆ เลย





ครั้งหนึ่งได้มีเศาะหาบะฮฺกล่าวแก่ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ      อะลัยฮิ วะสัลลัม ว่าแท้จริงบัญญัติของอิสลามนั้นมีมากมายเหลือเกิน ดังนั้นพอจะบอกได้ไหมว่ามีสิ่งใดที่เป็นศูนย์รวมของบัญญัติต่างๆ ทั้งหมดนั้น? ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ตอบพวกเขามีความว่า “จงทำให้ลิ้นของท่านนั้นเปียกชื้นอยู่เสมอ ด้วยการกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ” (รายงานโดย อัต-ติรมิซีย์, อิบนุ มาญะฮฺ, อัล-หากิม)





การกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุด และมีผลบุญมากมายที่อัลลอฮฺเตรียมไว้เช่นที่ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้สาธยายไว้มีความว่า “การกล่าว ‘อัล-หัมดุลิลลาฮฺ’ นั้นจะเติมเต็มตาชั่งในวันกิยามะฮฺ การกล่าว ‘สุบหานัลลอฮฺ วัล หัมดุลิลลาฮฺ’ นั้นมีผลบุญมากมายเท่าระหว่างฟ้าและแผ่นดิน” (รายงานโดย มุสลิม)





“สองประโยคที่เบาแก่ลิ้นที่จะกล่าว แต่หนักสำหรับการชั่งในวัน กิยามะฮฺ และเป็นที่รักของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตา นั่นคือ ‘สุบหานัลลอฮฺ  วะบิหัมดิฮฺ สุบหานัลลอฮิลอะซีม’” (รายงานโดย อัล-บุคอรีย์และมุสลิม)





“การกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺที่ประเสริฐที่สุดคือ ‘ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ’ การกล่าวขอดุอาอฺที่ดีที่สุดคือ ‘อัลหัมดุลิลลาฮฺ’ ” (รายงานโดย อัต-ติรมิซีย์ และอิบนุมาญะฮฺ)





นอกจากนี้การอ่านอัลกุรอานก็ยังถือว่าเป็นการกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺเช่นกัน เพราะอัลกุรอานเป็นดำรัสของอัลลอฮฺซึ่งเป็นถ้อยคำที่ประเสริฐที่สุด และการอ่านอัลกุรอานก็มีผลบุญที่ใหญ่หลวงเช่นเดียวกัน





การรำลึกถึงอัลลอฮฺด้วยการกล่าวซิกรฺอย่างสม่ำเสมอเป็นแบบอย่างของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ซึ่งท่านได้ปฏิบัติอย่างดีเยี่ยมทั้งยามเช้ายามเย็นและทุกๆ เวลา ด้วยบทซิกรฺต่างๆ ที่มีรายงานจากท่าน ทั้งนี้เป็นการตอบรับต่อคำสั่งของอัลลอฮฺที่ได้สั่งให้ท่านอดทนในความมานะเพื่อกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า





وَاصْبِرْ نَفْسَكَ مَعَ الَّذِينَ يَدْعُونَ رَبَّهُم بِالْغَدَاةِ وَالْعَشِيِّ يُرِيدُونَ وَجْهَهُ وَلاَ تَعْدُ عَيْنَاكَ عَنْهُمْ تُرِيدُ زِينَةَ الْحَيَاةِ الدُّنْيَا وَلاَ تُطِعْ مَنْ أَغْفَلْنَا قَلْبَهُ عَن ذِكْرِنَا وَاتَّبَعَ هَوَاهُ وَكَانَ أَمْرُهُ فُرُطاً (سورة الكهف:28)  





“และจงอดทนอยู่กับบรรดาผู้ที่กล่าวขอพรต่อพระผู้อภิบาลของพวกเขาในยามเช้าและยามเย็นด้วยความประสงค์ในความโปรดปรานของพระองค์ และอย่าได้หันสายตาของเจ้าออกจากพวกเขา เพราะต้องการสิ่งประดับประดาในโลกดุนยา และอย่าได้เชื่อฟังผู้ที่เราทำให้เขาหลงลืมจากการกล่าวรำลึกถึงเรา โดยเขาได้ทำตามกิเลสในตัวเขา และการงานของเขานั้นเป็นสิ่งที่เหลวไหล”  (อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัล-กะหฺฟิ: 28)





พระองค์ยังได้ตรัสอีกว่า





الَّذِينَ آمَنُواْ وَتَطْمَئِنُّ قُلُوبُهُم بِذِكْرِ اللّهِ أَلاَ بِذِكْرِ اللّهِ تَطْمَئِنُّ الْقُلُوبُ (سورة الرعد:28) 





“พึงรู้เถิดว่าด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮฺนั้น หัวใจจะสงบนิ่ง” (อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัร-เราะอฺดุ: 28)





- ข้อคิดที่ได้รับจากบทเรียน







  1. การกล่าวซิกรฺหรือการรำลึกถึงอัลลอฮฺเป็นอามัลฺที่สำคัญประการหนึ่งในศาสนาอิสลาม


  2. การกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺเป็นอามัลฺที่สามารถทำได้ง่ายโดยไม่มีเงื่อนไขมากมายใดๆ เลย


  3. คุณค่าจากการกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺที่สำคัญที่สุดเป็นการสร้างความผูกพันกับอัลลอฮฺอยู่เสมอ


  4. มุสลิมควรมีความสำนึกและตระหนัก พร้อมกับความอดทนที่จะกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺอยู่ตลอดเวลา เช่นการกล่าว อัลหัมดุลิลลาฮฺ, สุบหานัลลอฮฺ, ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ ฯลฯ เป็นต้น


  5. การอ่านอัลกุรอานก็ถือว่าเป็นการรำลึกถึงอัลลอฮฺเช่นกัน เพราะอัลกุรอานคือดำรัสของอัลลอฮฺ การอ่านดำรัสของพระองค์ก็คือการรำลึกถึงพระองค์นั่นเอง


  6. การกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺจะทำให้หัวใจสงบนิ่งไม่กระวนกระวาย เพราะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในพลังของอัลลอฮฺ






- คำถามหลังบทเรียน







  1. ท่านคิดว่าการกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺเป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่? เพราะเหตุใด?


  2. ท่านคิดว่าท่านพร้อมที่จะกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺในเวลาใดบ้าง?


  3. ท่านคิดว่ามีบทซิกรฺใดบ้างที่ท่านสามารถกล่าวได้?




กระทู้ล่าสุด

มารยาทในการเดินทาง (1 ...

มารยาทในการเดินทาง (1) การเตรียมตัวก่อนเดินทาง

ลักษณะวิธีการละหมาด ...

ลักษณะวิธีการละหมาด

ความประเสริฐของซอฮาบะ ...

ความประเสริฐของซอฮาบะฮฺและสิทธิ์ของพวกเขา

เรื่องราวการรับอิสลาม ...

เรื่องราวการรับอิสลามของ Iman Aparicio ชาวแม็กซิกัน