การเตาบัต หมายถึงการที่ผู้ทำผิดสำนึกตนและกลับไปหา อัลลอฮฺด้วยการขออภัยโทษจากพระองค์
มนุษย์ทุกคนนั้นล้วนหนีไม่พ้นจากการทำความผิดไม่ว่าจะมากหรือน้อย ยกเว้นผู้ที่อัลลอฮฺได้ปกป้อง เช่นท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เมื่อมนุษย์ทำผิดสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการลบล้างความผิดนั้นด้วยการเตาบัตต่อพระองค์อัลลอฮฺ
การเตาบัตนั้นมีความสำคัญต่อมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะบาปทั้งหลายจะยังคงอยู่กับผู้ทำผิดถ้าหากเขาไม่สำนึกตน ไม่ขออภัยโทษ ไม่ทำความดีลบล้างความผิด และเมื่อความผิดบาปยังอยู่กับตัว เขาก็จะต้องได้รับโทษจากบาปที่เขาทำไว้
ดังนั้นอัลลอฮฺจึงได้กำชับให้มนุษย์มุ่งมั่นในการเตาบัตต่อพระองค์เมื่อรู้ว่าตัวเองทำผิด และพระองค์ก็สัญญาว่าจะทรงอภัยโทษให้กับผู้ที่เตาบัต และจะทรงเตรียมผลตอบแทนที่ดีในสวนสวรรค์แก่เขา พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا تُوبُوا إِلَى اللهِ تَوْبَةً نَّصُوحاً عَسَى رَبُّكُمْ أَن يُكَفِّرَ عَنكُمْ سَيِّئَاتِكُمْ وَيُدْخِلَكُمْ جَنَّاتٍ تَجْرِي مِن تَحْتِهَا الأَنْهَارُ (سورة التحريم:8)
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเตาบัตต่ออัลลอฮฺด้วยการเตาบัตที่จริงจัง เผื่อว่าอัลลอฮฺจะทรงลบล้างความผิดของพวกเจ้า และนำพวกเจ้าเข้าสู่สวรรค์ซึ่งมีสายน้ำไหลผ่านอยู่เบื้องล่างของมัน” (อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัต-ตะหฺรีม: 8)
การเตาบัตอย่างจริงจังเรียกว่า ‘เตาบัต นาศูฮา’ คือการเตาบัตด้วยความสำนึกอย่างจริงจังและตั้งใจว่าจะไม่กระทำความผิดอีก และถ้าหากว่าพลั้งเผลอทำผิดอีกครั้ง ก็จะรีบเตาบัตอย่างจริงจังอีกเช่นเดิม ถึงแม้ว่าจะพลั้งเผลอทำอีกจนนับครั้งไม่ถ้วน
มีหะดีษที่ระบุถึงความสำคัญของการเตาบัต เป็นเรื่องราวของชายคนหนึ่งซึ่งฆ่าคนถึงหนึ่งร้อยคนและต้องการเตาบัต อยู่ว่า “ครั้งหนึ่งก่อนหน้ายุคสมัยของพวกท่าน ยังมีชายผู้หนึ่งได้ฆ่าคนถึงเก้าสิบเก้าคน (และเขาต้องการกลับเนื้อกลับตัว) จึงได้ถามถึงผู้ที่มีความรู้ที่สุดในแผ่นดินเพื่อจะได้ไปขอคำแนะนำจากเขาผู้นั้น ดังนั้นจึงมีคนแนะนำให้เขาไปถามนักบวชผู้หนึ่ง เขาก็ได้ไปหาและถามนักบวชนั้นว่า เขาได้ฆ่าคนถึงเก้าสิบเก้าคน มีทางที่เขาสามารถเตาบัตได้ไหม? นักบวชตอบเขาว่า ไม่มี เมื่อฟังเช่นนั้นเขาจึงฆ่านักบวชนั้นเสีย และกลายเป็นคนที่ได้ฆ่าคนทั้งหมดหนึ่งร้อยคนถ้วน จากนั้นก็มีคนแนะนำให้เขาไปหานักปราชญ์ผู้หนึ่ง เขาจึงได้ไปหาและถามนักปราชญ์ผู้นั้นว่า เขาได้ฆ่าคนครบหนึ่งร้อยคนแล้ว มีทางที่เขาจะเตาบัตได้ไหม นักปราชญ์ตอบเขาว่า ย่อมมีทางสำหรับเขาแน่นอน เพราะไม่มีสิ่งใดเลยที่จะขัดขวางเขาจากการเตาบัต นักปราชญ์แนะนำให้เขาอพยพไปยังเมืองหนึ่งซึ่งมีแต่คนที่ชอบทำความดีและให้ทิ้งเมืองเดิมของเขาเสียเพราะเป็นเมืองที่มีแต่คนชั่ว เขาจึงออกเดินทางไปยังเมืองที่นักปราชญ์ผู้นั้นแนะนำ แต่เขาก็เสียชีวิตลงกลางทางก่อนที่จะไปถึง เมื่อนั้นก็ได้มีมลาอิกะฮฺสองตนคือมลาอิกะฮฺแห่งความเมตตาและมลาอิกะฮฺแห่งการลงโทษมาเพื่อรับวิญญาณเขา มลาอิกะฮฺแห่งความเมตตาต้องการนำวิญญาณเขาไป โดยกล่าวว่าเขาผู้นี้ได้เตาบัตแล้วและมุ่งมั่นไปหาอัลลอฮฺด้วยใจจริง ขณะที่มลาอิกะฮฺแห่งการลงโทษก็ต้องการนำตัวเขาไปและกล่าวว่าเขาผู้นี้ไม่เคยทำดีเลยแม้แต่น้อย เมื่อนั้นอัลลอฮฺจึงส่งมลาอิกะฮฺอีกตนหนึ่งเพื่อเป็นผู้ตัดสิน โดยบอกให้มลาอิกะฮฺทั้งสองวัดระยะทางจากจุดที่เขาเสียชีวิตไปยังทั้งสองเมือง เมืองไหนที่มีระยะทางใกล้กว่าก็ให้ถือว่าเขาเป็นพวกในเมืองนั้น ทั้งสองมลาอิกะฮฺจึงช่วยกันวัดและพบว่าเมืองที่เขาจะอพยพไปมีระยะทางใกล้กว่า(ด้วยการบันดาลและความช่วยเหลือของอัลลอฮฺ) เมื่อเป็นดังนั้นมลาอิกะฮฺแห่งความเมตตาจึงได้นำเอาวิญญาณของชายผู้นั้นไป” (รายงานโดย มุสลิม)
- ข้อคิดที่ได้รับจากบทเรียน
1. มนุษย์ล้วนหนีไม่พ้นความผิด จึงควรต้องเอาใจใส่ในการเตาบัต
2.การเตาบัตที่แท้จริงต้องเกิดจากความสำนึก และตั้งใจที่จะเลิกทำบาป
3.มนุษย์จะต้องไม่ท้อถอยในการเตาบัต ไม่ว่าเขาจะพลั้งเผลอทำผิดมากกี่ครั้งก็ตาม
4. การเตาบัตคือกุญแจสู่การได้เข้าสวรรค์
5.บาปไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหนก็สามารถลบล้างได้ด้วยการเตาบัตต่ออัลลอฮฺ
6.อัลลอฮฺจะทรงช่วยเหลือผู้ที่มีความตั้งใจจริงในการเตาบัตต่อพระองค์
- คำถามหลังบทเรียน
1.ท่านคิดว่ามนุษย์จำเป็นต้องเตาบัตต่ออัลลอฮฺหรือไม่? เพราะเหตุใด? กรุณาแสดงความคิดเห็น
2.ท่านคิดว่าควรต้องทำอย่างไรเพื่อให้เตาบัตนั้นเป็น “เตาบัต นาศูฮา” หรือเตาบัตที่แท้จริง?
3. ท่านคิดว่าหลังจากการเตาบัตแล้วควรทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดการพลั้งเผลอทำผิดอีก?